การกำกับดูแลกิจการที่ดี

ภาพรวมของนโยบายและแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการ

บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการดำเนินกิจการ โดยได้ยึดถือตามแนวทางปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน (Good Corporate Governance) ตามที่กำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ได้มีมติอนุมัตินโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณบริษัท เพื่อส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและเป็นแนวทางในการหล่อหลอมให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานมีความเชื่อมั่นในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนที่พึงมีต่อส่วนรวม บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ศักยภาพ ความรู้ ความสามารถและความชำนาญในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เป็นเลิศ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และมีความกล้าหาญในการท้าทายต่อสิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วยการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อนำความเจริญรุ่งเรือง อย่างยั่งยืนมาสู่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ได้มีมติอนุมัติ จัดทำคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณบริษัทที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตลอดจนได้มีการกำหนดให้มีการทบทวนคู่มือเป็นประจำและเปิดเผยในเว็บไซต์บริษัทฯ (www.pcsgh.com) หมวดการกำกับดูแลกิจการที่ดี

การดำเนินงานที่สำคัญด้านการกำกับดูแลกิจการ

ทั้งนี้ ในปี 2565 คณะกรรมการบริษัท ได้ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการตามแนวปฏิบัติที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ตลอดจนหลักเกณฑ์ในระดับสากล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ต่างๆ และได้พัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ดังนี้

  1. ไม่มีกรณีที่กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารลาออกอันเนื่องมาจาก ประเด็นเรื่องการกำกับดูแลกิจการของบริษัท
  2. บริษัทไม่มีประวัติการกระทำผิดกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. คณะกรรมการบริษัท ไม่มีข่าว/ไม่มีกรณีการกระทำผิดด้านการทุจริต
  4. การปฏิบติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยจากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Reporting: (CGR) เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคะแนนในระดับ “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) ประจำปี 2565 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยมีคะแนนรายหมวดอยู่ในเกณฑ์ดีเลิศ

    ผลสำรวจโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2565
    ( Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2022)

    หมวด บริษัทจดทะเบียนโดยรวม บริษัท PCSGH
    สิทธิของผู้ถือหุ้น 96% 98%
    การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 93% 89%
    การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 85% 94%
    การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส 88% 94%
    ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ 79% 90%
    ภาพรวม 85% 93%
    ระดับคะแนน : 90-100 = ดีเลิศ, 80-89 =ดีมาก, 70-79=ดี, 60-69=ดีพอใช้, 50-59=ผ่าน

การดำเนินงานที่สำคัญด้านการกำกับดูแลกิจการ

  1. ได้รับการประเมินจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ระดับดีเลิศ 5 โลโก้
  2. ได้รับการประเมินการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย 100 คะแนน
  3. ได้รับการรับรองฐานะสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collevtive Action Coalition Against Corrupation : CAC) ซึ่งในครั้งนี้เป็นการต่ออายุการรับรองเป็นวาระที่ 2 เป็นระยะเวลา 3 ปี จากวันที่ 3 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2566
  4. อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainabillity Investment : THIS ประจำปี 2565 ติดต่อกันเป็นปีที่ 7

การติดตามให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการ

บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ และจรรยาบรรณบริษัท พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในรอบปี 2565 บริษัทได้มีการติดตามเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามการกำกับดูแลกิจการที่ดีครอบคลุมเรื่อง ดังต่อไปนี้

  1. ทบทวนและปรับปรุงกฎบัตรคณะกรรมการบริษัท โดยปรับปรุงให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565
  2. พิจารณารับทราบพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) พ.2565 ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565
  3. อนุมัตินโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.2562 (PDPA) ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565
  4. รับทราบรายงานผลโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2565 ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565
  5. ทบทวนผลคะแนนโคงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2565 ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565
  6. อนุมัตินโยบายความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565
  7. รับทราบการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงาน โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงาน โดยให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ซึ่งกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ ดังนี้
    • ส่งเสริม เผยแพร่ นโยบายการกำกับดูแลกิจการ จริยธรรมทางธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน
    • ศึกษาปรับปรุง ประเมิน ทบทวน เสนอแนะหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมทางธรุกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงานของบริษัทฯ ให้เป็นปัจจุบัน ตามกฎหมายและเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรชั้นนำที่เป็นมาตรฐานสากล
    • ดูแลให้มีการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงานของบริษัทฯ รวมทั้งทบทวนการนำหลักการ CG Code ไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ รวมทั้งกำกับดูแลด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยรายงานคณะกรรมการด้านความยั่งยืน บรรษัทภิบาลและบริหารความเสี่ยงทราบ
    • ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการคณะกรรมการด้านความยั่งยืนและบรรษัทภิบาลมอบหมาย

ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายจัดการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวต่อไป

บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นในการได้รับข้อมูลของบริษัทฯ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา และเท่าเทียมกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงกำหนดนโยบาย และมีการดำเนินงานในปี 2564 ดังนี้

ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้น มีสิทธิเสนอเพิ่มวาระการประชุม เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาบรรจุ/ไม่บรรจุเป็นวาระการประชุมในหนังสือเชิญประชุม และเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนพิจารณาเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 โดยแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมทั้งประกาศหลักเกณฑ์ และระบุขั้นตอนที่ชัดเจนไว้ใน เว็บไซต์ของบริษัทที่ http://www.pcsgh.com ในหัวข้อ “นักลงทุนสัมพันธ์ / ข้อมูลสำหรับผู้ถือหุ้น/ การเสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้น” ปรากฎว่า ไม่มีผู้ถือหุ้นเสนอเพิ่มวาระการประชุม และไม่มีผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคลใด เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการบริษัท

กำหนดการจัดประชุมผู้ถือหุ้น

ในปี 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 มีมติให้มีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 9 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุมสำนักงานใหญ่ บริษัท พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เลขที่ 2/1-9 หมู่ 3 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยได้เผยแพร่มติการประชุม วันประชุม และระเบียบวาระการประชุมโดยระบุวัตถุประสงค์และเหตุผล ตลอดจนความเห็นของคณะกรรมการในทุกวาระ และแจ้งข่าวประกาศในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เผยแพร่หนังสือเชิญประชุมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และหนังสือมอบฉันทะ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บนเว็บไซต์ของบริษัทที่ http://www.pcsgh.com ล่วงหน้า 30 วัน ในวันที่ 8 มีนาคม 2564 พร้อมทั้งแจ้งการเผยแพร่ดังกล่าวผ่านระบบการแจ้งข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดวัน Record Date วันที่ 2 มีนาคม 2564

ทั้งนี้บริษัทได้มอบหมายให้นายทะเบียนหลักทรัพย์ โดยศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดส่งหนังสือเชิญประชุม ข้อมูลประกอบที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการตัดสินใจ/ความเห็นของคณะกรรมการ รายงานการประชุมที่ผ่านมา รายงานประจำปีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการประชุม เอกสารที่ต้องใช้ในการมอบฉันทะในรูปแบบ QR Corde ซึ่งปรากฎอยู่ในแบบฟอร์มลงทะเบียน ที่ได้จัดส่งให้ผู้ถือหุ้นพร้อมหนังสือเชิญประชุมโดยจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นล่วนหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น หนังสือเชิญประชุมส่งออกวันที่ 18 มีนาคม 2564 และได้ทำการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ติดต่อกันต่อเนื่อง 3 วันล่วงหน้า ( วันที่ 1, 2,5 เมษายน 2564) นอกจากนี้ บริษัทมีความตระหนักและห่วงใยในสุขภาพและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมประชุม จึงได้กำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับการประชุมภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และขอความร่วมมือจากผู้ถือหุ้นพิจารณามอบฉันทะให้กรรมการอิสระแทนการเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง โดยใช้หนังสือมอบฉันทะที่บริษัทฯ ได้จัดส่งไปพร้อมหนังสือเชิญประชุม

วันประชุมผู้ถือหุ้น

เพื่อเป็นไปตามนโยบายภาครัฐและเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ดังนั้น ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในวันที่ 9 เมษายน 2564 บริษัทจึงของดการจัดรถรับ – ส่ง ผู้ถือหุ้นจากกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นยังคงสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงได้โดยการมอบฉันทะให้กรรมการอิสระของบริษัทเข้าร่วมประชุมและออกเสียงแทน และส่งคำถามเกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุมมาพร้อมกันด้วยได้ตามปกติ

บริษัทฯ ได้จัดให้มีบุคลากรและนำเทคโนโลยีมาใช้กับการประชุมผู้ถือหุ้น ในการลงทะเบียนผู้ถือหุ้น การนับคะแนนและแสดงผล เพื่อให้การดำเนินการประชุมสามารถกระทำได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ ตลอดทั้งบริษัทได้จัดให้มีอากรณ์แสตมป์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในวันประชุม

กรณีที่ผู้ถือหุ้นยังคงประสงค์เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง บริษัทขอความร่วมมือให้กรอกแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองซึ่งจัดส่งไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม ทั้งนี้ บริษัท ขอความร่วมมือและขอทำความเข้าใจมายังผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น (“ผู้เข้าร่วมประชุม”) ถึงแนวทางการดำเนินการจัดประชุมของบริษัท เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ดังนี้

  • บริษัทจะจัดให้มีการตั้งจุดคัดกรองตามแนวปฏิบัติของกรมควบคุมโรคบริเวณด้านหน้าอาคารสถานที่ประชุม โดยในกรณีที่บริษัท ตรวจพบว่าผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ (มีไข้ อุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการที่น่าสงสัย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือหายใจลำบาก เป็นต้น) บริษัท ขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่มีความเสี่ยงดังกล่าวเข้าไปในห้องประชุม (ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นมาประชุมด้วยตนเองท่านสามารถมอบฉันทะให้ผู้อื่นหรือกรรมการอิสระของบริษัท เข้าร่วมประชุมแทนได้) ทั้งนี้ การต่อแถว ณ จุดคัดกรอง จุดตรวจเอกสาร และจุดลงทะเบียน บริษัทจะจัดให้มีการเว้นระยะห่างประมาณ 1 เมตร
  • ผู้เข้าร่วมการประชุมจะถูกเชิญให้นั่งโดยมีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่เหมาะสม โดยเว้นระยะห่างระหว่างเก้าอี้ประมาณอย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งจะทำให้จำนวนที่นั่งในห้องประชุมที่จะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมมีจำนวนจำกัดประมาณ 29 ที่นั่ง บริษัทจึงใคร่ขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมประชุมให้นั่งตามหมายเลขที่นั่งเพื่อประโยชน์ในการติดตามกรณีเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้นและเมื่อที่นั่งที่จัดให้เต็มแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมจะไม่สามารถเข้าไปยังห้องประชุมได้ โดยในกรณีดังกล่าวบริษัทขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมประชุมในการมอบฉันทะให้กรรมการอิสระของบริษัท เพื่อให้เข้าร่วมประชุมแทน
  • บริษัทจะจัดให้มีการดำเนินการทำความสะอาดสถานที่จัดการประชุมด้วยแอลกอฮอล์ก่อนเริ่มการประชุมและขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมประชุมจัดเตรียมและสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมการประชุม
  • เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) บริษัทของดการจัดเตรียมไมโครโฟนสำหรับการสอบถาม โดยผู้เข้าร่วมประชุมที่ประสงค์จะสอบถามในที่ประชุมขอให้ส่งคำถามให้แก่เจ้าหน้าที่บริษัท เพื่อจัดส่งคำถามแก่ประธานกรรมการต่อไป
  • บริษัท ของดบริการอาหาร งดเสิร์ฟ ชา กาแฟ และงดรับประทานอาหารในบริเวณจัดการประชุมโดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)
  • บริษัท ของดแจกรายงานประจำปี และรายงานความยั่งยืน ในแบบรูปเล่มในวันประชุมเพื่อลดการสัมผัสสิ่งของร่วมกับผู้อื่นและเพื่อความปลอดภัยสุขอนามัยของผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน โดยท่านสามารถ กรอกในแบบแสดงความจำนงขอรับรายงานประจำปี ในแบบรูปเล่ม
  • ผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องกรอกแบบสอบถามเพื่อการคัดกรองโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องไม่ปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพหรือประวัติการเดินทางของท่านต่อบริษัท
  • หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีข้อกำหนดจากหน่วยงานราชการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท จะแจ้งให้ท่านทราบทางเว็บไซต์ของบริษัท ( www.pcsgh.com ) ต่อไป

ในการประชุมผู้ถือหุ้นผู้ดำเนินการประชุมได้ชี้แจงมาตรการและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และชี้แจงกติกาทั้งหมดรวมถึงวิธีนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่ต้องลงมติในแต่ละวาระตามข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ก่อนเริ่มประชุมจะแนะนำคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร ผู้สอบบัญชีของบริษัท และที่ปรึกษากฎหมายซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ที่ประชุมรับทราบ ประธานฯ จะดำเนินการประชุมตามลำดับวาระการประชุมและไม่เพิ่มวาระการประชุมโดยไม่แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและโดยการมอบฉันทะเข้าร่วมประชุมรวม 54 ราย นับรวมจำนวนหุ้นได้ 1,422,765,010 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 93.29 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของบริษัท ครบเป็นองค์ประชุมตามข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายให้กรรมการทุกท่านเข้าร่วมประชุมเพื่อตอบข้อซักถามจากผู้ถือหุ้นโดยพร้อมเพรียงกัน

หลังการประชุมผู้ถือหุ้น

บริษัทดำเนินการบันทึกรายงานการประชุม ให้บันทึกให้ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส และบันทึกประเด็นซักถามและข้อคิดเห็นที่สำคัญไว้ในรายงานการประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้มีการบันทึกวีดีทัศน์ภาพการประชุมเพื่อเก็บรักษาไว้อ้างอิง โดยเผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ หมวดนักลงทุนสัมพันธ์/กิจกรรมและเอกสารนำเสนอ ทั้งนี้บริษัทได้จัดส่งรายงานสรุปผลการลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเผยแพร่ในระบบแจ้งข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เกินเวลาเก้านาฬิกาในวันที่ 23 เมษายน 2564 นอกจากนี้บริษัทได้นำส่งรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นในระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในกำหนด 14 วัน รวมทั้งได้เผยแพร่รายงานการประชุม ไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทแล้ว

เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการได้รับเงินปันผลโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (ถ้ามีการจ่ายเงินปันผล) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นให้ได้รับเงินปันผลตรงเวลา ป้องกันปัญหาเรื่องเช็คชำรุดสูญหาย หรือส่งถึงผู้ถือหุ้นล่าช้า

บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงมีนโยบายดังนี้

  • บริษัทฯ จัดส่งหนังสือนัดประชุมพร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น
  • บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอ มีสิทธิเสนอเพิ่มวาระการประชุม เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาบรรจุ/ไม่บรรจุเป็นวาระการประชุมในหนังสือเชิญประชุม และเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนพิจารณา เป็นการล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 โดยแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมทั้งประกาศหลักเกณฑ์ และระบุขั้นตอนที่ชัดเจนไว้ใน เว็บไซต์ของบริษัทที่ http://www.pcsgh.com ในหัวข้อ “นักลงทุนสัมพันธ์ / ข้อมูลสำหรับผู้ถือหุ้น/ การเสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้น” ปรากฎว่า ไม่มีผู้ถือหุ้นเสนอเพิ่มวาระการประชุม และไม่มีผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคลใด เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการบริษัท บริษัทฯ ได้จัดการประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมด 1 ครั้ง ซึ่งเป็นการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ในวันที่ 9 เมษายน 2564 โดยนำหนังสือเชิญประชุมเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาข้อมูลก่อนวันประชุม
  • เพิ่มการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง โดยให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือให้มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คนเข้าร่วมประชุม และลงมติแทนได้ และแจ้งรายชื่อกรรมการอิสระดังกล่าวไว้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น
  • ให้ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นส่วนน้อยไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นชาวไทยหรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศทางการเงินและอื่นๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจและผลประกอบการของบริษัทฯ ที่ตรงต่อความเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอ สม่ำเสมอ ทันเวลา แสดงให้เห็นถึงสถานภาพทางการเงินและการประกอบการที่แท้จริงของบริษัทฯ รวมทั้งอนาคตของธุรกิจของบริษัทฯ

คณะกรรมการบริษัทมุ่งมั่นที่จะดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านช่องทางเผยแพร่ทางสื่อมวลชน สื่อเผยแพร่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ถือหุ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้รับทราบข้อมูลของบริษัทฯ ได้อย่างทั่วถึง และจะทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศใช้บังคับ

บริษัทฯ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันและผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัทฯ จะจัดให้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเป็นประจำ รวมทั้งจะเผยแพร่ข้อมูลขององค์กร ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทั่วไปให้แก่ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ การรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเว็บไซต์ ของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับข่าวสารเป็นประจำ โดยผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ ข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์จะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์

พันธกิจ งบการเงิน ข่าวประชาสัมพันธ์ รายงานประจำปี โครงสร้างบริษัทและผู้บริหาร โครงสร้างการถือหุ้นและผู้ถือหุ้นรายใหญ่

บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์ และนักลงทุนที่สนใจเข้าพบผู้บริหารระดับสูงได้ตามความเหมาะสม และเข้าถึงข้อมูลต่างๆของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญทางการเงิน นโยบาย กลยุทธ์ ตลอดจนการดำเนินกิจการ ของบริษัท โดยเผยแพร่ข้อมูลที่เที่ยงตรง และทันต่อสถานการณ์ ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ และเว็บไซต์ของบริษัท (www.pcsgh.com) เพื่อประกอบการวิเคราะห์ และการตัดสินใจของนักลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทได้ดำเนินการจัดกิจกรรมนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนักวิเคราะห์ และนักลงทุน ดังต่อไปนี้

  • จัดการประชุมแถลงผลประกอบการประจำไตรมาสให้กับนักวิเคราะห์ (Analyst Forum)
  • เข้าร่วมงาน Opportunity Day ในปี 2564 จำนวน 2 ครั้ง
  • การเข้าเยี่ยมชมโรงงาน (Plant visit) ของนักวิเคราะห์ และนักลงทุน การจัดประชุมพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงที่สำนักงาน หรือรับสายโทรศัพท์ (Conference call) จากนักวิเคราะห์ และนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 
  • การนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนในประเทศ (Road Show)  
  • การเผยแพร่ข่าว (Press Release) ในเรื่องการลงทุน หรือกิจกรรมการทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัท  
  • การตอบคำถามนักลงทุน และนักวิเคราะห์ผ่านทางจดหมายอิเล็คทรอนิคส์ (e-mail : ir@pcsgh.com) อย่างสม่ำเสมอ
  • จัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทผ่านระบบเผยแพร่ข่าวสารของตลาดหลักทรัพย์ทุกไตรมาส

นอกจากนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อรายงานทางการเงิน เพื่อให้แสดงถึงสถานะทางการเงินและผลการประกอบการที่แท้จริงของบริษัทฯ โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอตามมาตรฐานการบัญชีซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการแต่ละท่าน ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทฯในรายงานประจำปีของบริษัท และจะเปิดเผยค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในรายงานประจำปีของบริษัท

คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ การกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามเป้าหมายและแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัทฯ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการบริษัทจะดูแลให้มีการจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย นโยบายทิศทางการดำเนินงาน แผนกลยุทธ์ แผนงาน และงบประมาณประจำปีของบริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริษัทจะร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจร่วมกันก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติ และติดตามให้มีการบริหารงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะยึดถือแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

  • คณะกรรมการบริษัท

    การสรรหากรรมการนั้น บริษัทฯ จะให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ มีประวัติการทำงานที่ดี และมีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์กว้างไกล รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร สามารถอุทิศเวลาให้ได้อย่างเพียงพออันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจการของบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังจะคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมและสอดคล้องกับองค์ประกอบและโครงสร้างของกรรมการตามกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทฯ อีกด้วย มีกระบวนการที่โปร่งใส สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น

    คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยกรรมการจำนวน 9 คน ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วยกรรมการอิสระ 4 คน กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร 7 คน และกรรมการที่เป็นผู้บริหาร 2 คน โดยประธานกรรมการไม่ใช่บุคคลคนเดียวกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

    บริษัทฯ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างชัดเจน ตามที่แสดงขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ในหัวข้อเรื่องโครงสร้างการจัดการ

    ในการแต่งตั้งกรรมการบริษัท คณะกรรมการที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันจะร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท โดยจะพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง กับธุรกิจ หรือพิจารณาจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งกรรมการใหม่จะต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) ทั้งนี้ ข้อบังคับของบริษัทฯ กำหนดให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งกรรมการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

    1. ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับ 1 หุ้นต่อ 1 เสียง
    2. ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม (1) เลือกตั้งบุคคลเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
    3. บุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนกรรมการที่จะพึงมี ให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด

    ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสาม (1/3) ของจำนวนกรรมการในขณะนั้น ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุด กับส่วนหนึ่งในสาม (1/3) กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับเลือกให้กลับเข้ามารับตำแหน่งอีกได้ กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรกและปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้น ให้จับสลากกัน ส่วนปีหลังๆ ต่อไป ให้กรรมการคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งใหม่อีกได้โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น

    นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

    1. ตาย
    2. ลาออก
    3. ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย
    4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออก ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิออกเสียง และมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นถือ โดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง
    5. ศาลมีคำสั่งให้ออก
  • คณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นอิสระ

    คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นกรรมการอิสระจำนวน 3 คน โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี บริษัทฯ มีนโยบายในการสรรหากรรมการตรวจสอบ/กรรมการอิสระ ที่สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) โดยบริษัทได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการอิสระ ตามที่ได้แสดงในหน้า 43.

    นอกจากนี้ กรรมการอิสระที่ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบัญชีหรือการเงินเพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ จะพิจารณาคุณสมบัติในด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ประสบการณ์ในธุรกิจ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และความมีจริยธรรม เป็นต้น

  • ผู้บริหาร

    คณะกรรมการบริษัท และ/หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารจากบุคลากรที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถในการบริหารงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง

  • นโยบายการบริหารงานในบริษัทย่อย บริษัทร่วม และกิจการที่ควบคุมร่วมกัน

    1. เพื่อให้บริษัทฯ สามารถควบคุมดูแลการจัดการ และรับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมได้ เสมือนเป็นหน่วยงานหนึ่งของบริษัทฯ และเพื่อให้บริษัทฯ มีกลไกกำกับดูแลบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งมีมาตรการในการติดตามการบริหารงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ในเงินลงทุนของบริษัทฯ โดยให้กรณีดังต่อไปนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี)
      1. เรื่องที่ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท
        • การแต่งตั้งหรือเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการและผู้บริหารในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมอย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม โดยให้กรรมการและผู้บริหารที่บริษัทฯ เสนอชื่อหรือแต่งตั้งมีดุลยพินิจในการพิจารณาออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทั่วไปและการดำเนินธุรกิจตามปกติของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมได้ตามแต่ที่กรรมการและผู้บริหารของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมจะเห็นสมควรเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ บริษัทย่อยและบริษัทร่วม เว้นแต่เรื่องที่กำหนดไว้ในข้อ 1

          ทั้งนี้ กรรมการและผู้บริหารตามวรรคข้างต้นที่ได้รับการเสนอชื่อนั้น ต้องมีคุณสมบัติ บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ ตลอดจนไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความไม่น่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท

        • กรณีที่บริษัทย่อยตกลงเข้าทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทย่อย หรือรายการที่เกี่ยวกับการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทย่อย โดยนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามประกาศที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ต้องเป็นกรณีที่เมื่อคำนวณขนาดของรายการที่บริษัทย่อยเข้าทำรายการเปรียบเทียบกับขนาดของบริษัทฯ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วอยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วย

        • พิจารณาการจ่ายเงินปันผลประจำปีและเงินปันผลระหว่างกาล (หากมี) ของบริษัทย่อย
        • การแก้ไขข้อบังคับของบริษัทย่อย

          รายการตั้งแต่ข้อ (จ) ถึงข้อ (ฎ) นี้เป็นรายการที่ถือว่ามีสาระสำคัญ และหากเข้าทำรายการจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการของบริษัทย่อย กรรมการและผู้บริหารซึ่งบริษัทฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในบริษัทย่อยจะออกเสียงในเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทก่อน ทั้งนี้ ต้องเป็นกรณีที่เมื่อคำนวณขนาดรายการที่บริษัทย่อยเข้าทำรายการเปรียบเทียบกับขนาดของบริษัทฯ โดยนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินมาบังคับใช้โดยอนุโลม แล้วอยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งรายการดังต่อไปนี้คือ

        • การโอนหรือสละสิทธิประโยชน์ รวมตลอดถึงการสละสิทธิเรียกร้องที่มีต่อผู้ที่ก่อความเสียหายแก่บริษัทย่อย
        • การขายหรือโอนกิจการของบริษัทย่อยทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่บุคคลอื่น
        • การซื้อหรือการรับโอนกิจการของบริษัทอื่นมาเป็นของบริษัทย่อย
        • การเข้าทำ แก้ไข หรือเลิกสัญญาเกี่ยวกับการให้เช่ากิจการของบริษัทย่อยทั้งหมด หรือบางส่วนที่สำคัญ การมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าจัดการธุรกิจของบริษัทย่อย หรือการรวมกิจการกับบุคคลอื่นโดยมีวัตถุประสงค์จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน
        • การเช่า หรือให้เช่าซื้อกิจการหรือทรัพย์สินของบริษัทย่อยทั้งหมดหรือส่วนที่มีสาระสำคัญ
        • การกู้ยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน การให้สินเชื่อ การค้ำประกัน การทำนิติกรรมผูกพันบริษัทย่อยให้ต้องรับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น ในกรณีที่บุคคลภายนอกขาดสภาพคล่องหรือไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ได้ หรือการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในลักษณะอื่นใดแก่บุคคลอื่น
        • การเลิกกิจการของบริษัทย่อย
      2. เรื่องที่ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ (3/4) ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ก่อนบริษัทย่อยเข้าทำรายการ

        • กรณีที่บริษัทย่อยตกลงเข้าทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทย่อย หรือรายการที่เกี่ยวกับการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทย่อย โดยนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามประกาศที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (แล้วแต่กรณี) มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ต้องเป็นกรณีที่เมื่อคำนวณขนาดของรายการที่บริษัทย่อยเข้าทำรายการเปรียบเทียบกับขนาดของบริษัทฯ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วอยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
        • การเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทย่อยและการจัดสรรหุ้น รวมทั้งการลดทุนจดทะเบียนซึ่งไม่เป็นไปตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิมของผู้ถือหุ้นอันจะเป็นผลให้สัดส่วนการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมของบริษัทฯ ในบริษัทย่อยไม่ว่าในทอดใด ๆ ลดลงเกินกว่าร้อยละ 10 ของทุนชำระแล้วของบริษัทย่อยนั้น หรือเป็นผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทย่อยไม่ว่าในทอดใด ๆ ลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้วของบริษัทย่อยนั้น
        • การดำเนินการอื่นใดอันจะเป็นผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทย่อยไม่ว่าในทอดใดๆ ลดลงเกินกว่าร้อยละ 10 ของทุนชำระแล้วของบริษัทย่อย หรือเป็นผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทย่อยไม่ว่าในทอดใดๆ ลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้วของบริษัทย่อยในการเข้าทำรายการอื่นใด ที่มิใช่รายการธุรกิจปกติของบริษัทย่อย
        • การเลิกกิจการของบริษัทย่อย ทั้งนี้ ต้องเป็นกรณีที่เมื่อคำนวณขนาดของกิจการบริษัทย่อยที่เลิกนั้นเปรียบเทียบกับขนาดของบริษัทฯ โดยนำหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับ ตลาดทุนและคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินมาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ต้องเป็นกรณีที่เมื่อคำนวณขนาดของรายการที่บริษัทย่อยเข้าทำรายการเปรียบเทียบกับขนาดของบริษัทฯ แล้วอยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
        • รายการอื่นใดที่ไม่ใช่รายการธุรกิจปกติของบริษัทย่อยและเป็นรายการที่จะมีผลกระทบต่อบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ
    2. กรรมการของบริษัทฯ จะติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมให้เป็นไปตามแผนงาน และงบประมาณ อย่างต่อเนื่อง และติดตามให้บริษัทย่อยเปิดเผยข้อมูลรายการเกี่ยวโยง และรายการได้มา หรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ต่อบริษัทฯ ตามประกาศที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (แล้วแต่กรณี) มาบังคับใช้โดยอนุโลม อย่างครบถ้วนและถูกต้อง
    3. กรรมการของบริษัทฯ ต้องจัดให้บริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและรัดกุมเพียงพอ เพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทย่อย รวมทั้งควรให้บริษัทย่อยจัดให้มีระบบงานที่ชัดเจนเพื่อแสดงได้ว่า บริษัทย่อยมีระบบเพียงพอในการเปิดเผยข้อมูล การทำรายการที่มีนัยสำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้อย่างต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ และมีช่องทางให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ สามารถได้รับข้อมูลของบริษัทย่อยในการติดตามดูแลผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน การทำรายการระหว่างบริษัทย่อยกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทย่อย และการทำรายการที่มีนัยสำคัญของบริษัทย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ต้องจัดให้บริษัทย่อยมีกลไก ในการตรวจสอบระบบงานดังกล่าวในบริษัทย่อย โดยให้ทีมงานผู้ตรวจสอบภายในและกรรมการอิสระของ บริษัทฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง และให้มีการรายงานผลการตรวจสอบระบบงานดังกล่าวให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทย่อยมีการปฏิบัติตามระบบงานที่จัดทำไว้อย่างสม่ำเสมอ

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและเพื่อความโปร่งใสและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายการใช้ข้อมูลของบริษัทดังนี้

  • ให้ความรู้แก่กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า เกี่ยวกับหน้าที่ที่ต้องจัดทำและส่งรายงานการถือหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
  • กำหนดให้กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการขึ้นไปหรือเทียบเท่า จัดทำและนำส่งเอกสารรายงานการถือหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และของบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ ส่งผ่านมายังเลขานุการของบริษัท ก่อนนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทุกครั้ง โดยให้จัดทำและนำส่งภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีการซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์นั้น
  • กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ จะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วงเวลาก่อนที่จะเผยแพร่งบการเงินหรือเผยแพร่เกี่ยวกับฐานะการเงินและสถานะของบริษัท จนกว่าบริษัทจะได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนแล้ว โดยบริษัทจะแจ้งให้กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไป หรือเทียบเท่า งดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเวลาอย่างน้อง 30 วันล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน และควรรอคอยอย่างน้อย 24 ชั่วโมงภายหลังการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณชนแล้ว รวมทั้งห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่น
  • กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร ต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบอย่างน้อย 1 วันล่วงหน้าก่อนทำการซื้อ/ขาย หลักทรัพย์ของบริษัทผ่านเลขานุการบริษัทฯ และรายงานให้ที่ประชุมทราบเป็นรายไตรมาส
  • กำหนดบทลงโทษทางวินัยหากมีการฝ่าฝืนนำข้อมูลภายในไปใช้หาประโยชน์ส่วนตนซึ่งเริ่มตั้งแต่การตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือให้ออกจากงาน ซึ่งการลงโทษจะพิจารณาจากเจตนาของการกระทำและความร้ายแรงของความผิดนั้น

บริษัท พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นธรรม และปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนด “นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น” ขึ้น ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ แล้ว เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนแก่ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทรวมทั้งได้จัดทําาแนวทางการปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่เรียก ไม่รับ ไม่จ่าย และไม่ทําาธุรกิจกับบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน การติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย รวมทั้งกําาหนดบทลงโทษทางวินัยที่ชัดเจน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมกับโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) ด้วยและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายไปพร้อมกับการพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนต่อไป

การติดตามการดำเนินงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น

  1. ในปี 2559 บริษัทฯ ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยง ทบทวนและปรับปรุงนโยบายและกระบวนการเปิดเผยตามกรอบแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน Anti Corruption สำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งที่ 6/2559 วันที่ 12 ตุลาคม 2559 เพื่อปรับปรุงนโยบายและแนวทางการดำเนินการรวมทั้งการติดตามผล กระบวนการรายงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดีตามข้อกำหนด พร้อมทั้งดำเนินการฝึกอบรมให้พนักงานทุกคน เกิดความเข้าใจ และพัฒนาความรู้ ผู้บริหารของบริษัทฯ รวมทั้งผลักดันให้คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ได้รับทราบนโยบายโดยการเผยแพร่ทางจดหมาย และผ่านเว็บไซด์ของบริษัทฯ
  2. บริษัทฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมแนวร่วมภาคประชาชนต่อต้านการคอร์รัปชั่นของจังหวัดนครราชสีมา ในการประกาศเจตนารมณ์ รณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย
  3. บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ให้จัดทำหนังสือคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณบริษัท (Corporate Governance and Code of Conduct) โดยกำหนดให้นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น เป็นส่วนหนึ่งของคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณบริษัท เพื่อให้บริษัทมีมาตรการดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการไปในทิศทางเดียวกัน
  4. บริษัทฯ ได้ลงนามในการแสดงเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption : CAC ) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยบริษัทได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560
  5. บริษัทฯ ได้เผยแพร่และให้ความรู้กับผู้บริหารและพนักงานทั่วทั้งองค์กรผ่านกระบวนการฝึกอบรมสำหรับพนักงานใหม่ได้รับการบรรจุนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นไว้ในหลักสูตรการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ และกระบวนการอบรมในงาน (On the Job Training) ทั่วทั้งองค์กร
  6. ในปี 2563 บริษัทฯ ได้รับการต่ออายุการรับรองการเป็นสมชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคเอกชนไทย โดยการรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 3 ปี นั้นจากวันที่มีมติในการรับรอง วันที่ 3 มิถุนายน 2563 ครบกำหนดอายุการรับรองในวันที่ 30 มิถุนายน 2566
  7. ในปี 2564 บริษัทฯ ได้จัดทดสอบวัดระดับความรู้ด้านจรรยาบรรณบริษัทและการปฎิบัติตามนโยบายการต่อต้านการคอรรัปชั่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ร้อยละ 87.25

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์บนหลักการที่ว่าพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท เท่านั้น และไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทฯและหลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้กรรมการผู้ที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับรายการที่พิจารณา และต้องแจ้งเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียของตนเองให้บริษัทฯ หรือบุคคลที่บริษัทฯ มอบหมาย ทราบถึงความสัมพันธ์หรือการเกี่ยวโยงของคนในรายการดังกล่าว และต้องไม่เข้าร่วมการพิจารณาตัดสิน รวมถึงไม่มีอำนาจอนุมัติในธุรกรรมนั้นๆ

คณะกรรมการตรวจสอบจะนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกัน และรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งได้กระทำอย่างยุติธรรม ตามราคาตลาดและเป็นไปตามปกติธุรกิจการค้า ซึ่งมีการพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ รวมทั้งบริษัทฯได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัดในเรื่องการกำหนดราคาและเงื่อนไขต่างๆ กับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ให้เสมือนทำรายการกับบุคคลภายนอก

ในปี 2565 บริษัทฯ ไม่มีวาระการทำรายการระหว่างกันที่ต้องขอนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เผยแพร่นโยบาย การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้กับผู้บริหารและพนักงานทราบผ่านระบบ Intranet ของบริษัทฯ

จรรยาบรรณของบริษัทใช้สำหรับผู้บริหารของบริษัทและบริษัทในเครือทุกบริษัท และทุกระดับไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะได้ลงนามรับทราบหรือไม่

ในหลักการของการประกอบธุรกิจของบริษัทนั้น การมีชื่อเสียงในด้านความสุจริตเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของบริษัท ทั้งยังมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าและผลกำไรทางธุรกิจเช่นเดียวกับชื่อเสียงและความดีงามของพนักงานระดับผู้บริหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าหน่วยขึ้นไป มาตรฐานการปฏิบัติเหล่านี้เป็นผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของบริษัทโดยรวมอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของบริษัท คือ การทำธุรกิจโดยชอบด้วยกฎหมายและต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆและเคารพในสิทธิของคู่ค้าและลูกค้าของบริษัท

  1. การปฏิบัติตนตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งต่างๆของบริษัท

    จรรยาบรรณนี้เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นจากระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งอื่นๆของบริษัท หากข้อความ ในระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดๆขัดแย้งกับข้อความในจรรยาบรรณ ให้ใช้ข้อความในจรรยาบรรณ นี้แทน

    พนักงานระดับผู้บริหารทุกคนต้องปฏิบัติตนตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งต่างๆของบริษัท และของผู้บังคับบัญชาในระดับเหนือขึ้นไป กล่าวคือ

    1) ต้องสนับสนุนนโยบายและการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ข้อตกลง ประกาศ หรือหนังสือเวียนของบริษัท ซึ่งประกาศให้พนักงานทุกคนทราบโดยเคร่งครัด
    2) ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม ตลอดจนต้องรายงานเหตุการณ์ที่อาจก่อให่เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและทรัพย์สินของบริษัทโดยเร็ว
    3) ต้องสุภาพ ให้เกียรติ และให้ความนับถือต่อผู้ร่วมงาน
    4) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ วิริยะอุตสาหะ รักษาระเบียบแบบแผนและธรรมาภิบาลของบริษัทเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีให้แก่พนักงานโดยทั่วไป เพื่อให้บริษัทมีความก้าวหน้าและเป็นไปอย่างถูกต้อง ตามครรลองธรรม
    5) ต้องรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และความลับของบริษัท ของลูกค้า หรือที่เกี่ยวกับกิจการใดๆที่บริษัท ไม่เปิดเผยโดยเคร่งครัด การเผยแพร่ข่าวสารต่างๆอันเกี่ยวกับธุรกิจการเงินและตัวบุคคลของบริษัท จะต้องกระทำตามแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นและต้องกระทำด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่เป็นพนักงานของบริษัทและภายหลังจากพ้นสภาพของพนักงานของบริษัท พนักงาน ทุกคนตกลงจะรักษาข้อมูลอันเป็นความลับดังกล่าวข้างต้นไว้เป็นความลับ หากมีการเปิดเผยหรือส่งให้แก่ผู้อื่นหรือใช้ข้อมูลดังกล่าวในเรื่องอื่นใดนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ให้กับบริษัท พนักงานตกลงยินยอมรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายให้แก่บริษัทตามที่เกิดขึ้นจริงทุกประการ
    6) ต้องช่วยกันระมัดระวังและป้องกันทรัพย์สินของบริษัทโดยมิให้เสียหายหรือสูญหายไม่ว่าจากบุคคลหรือจากภัยพิบัติใดๆ เท่าที่สามารถจะทำได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งไม่นำสิ่งของใดไม่ว่าอุปกรณ์หรือทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท
    7) บริหารงานโดยยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้มีคุณธรรมและจริยธรรมในทุกระดับของบริษัท ตลอดจนสอดส่องดูแลและจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในบริษัท
    8) ต้องปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด มีความยุติธรรม ไม่มีอคติ
    9) ต้องพร้อมที่จะทำงานเป็นทีมและสามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
    10) ต้องปฏิบัติตาม ตลอดจนต้องสนับสนุนและช่วยควบคุมกำกับพนักงานในบังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามระเบียบวินัยและข้อกำหนดของบริษัทในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของบริษัทอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายลิขสิทธิ์ หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท
  2. ข้อไม่พึงปฏิบัติ

    พนักงานระดับผู้บริหารทุกคนพึงงดเว้นไม่ปฏิบัติหรือประพฤติตนไปในทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียของบริษัทและของตนเอง กล่าวคือ

    1) ใช้เวลาทำงานของบริษัทไปทำอย่างอื่น หรือใช้ประโยชน์ส่วนตัว
    2) ประกอบกิจการอันมีสภาพเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น หรือเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจครอบงำการจัดการ ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายต่อบริษัทไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
    3) ประพฤติตนไปในทางที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อตำแหน่งหน้าที่และเกียรติคุณของบริษัท
    4) แจ้งหรือใช้ข้อความที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งต่อบริษัท
    5) ทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อ กระทำการใดๆอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารที่ดี เพื่อให้งานลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
    6) ปกปิด หรือบิดเบือนความจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียหายต่อบริษัทไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
    7) ขัดขวาง หรือกระทำการใดๆอันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานโดยชอบของผู้มีอำนาจหน้าที่ในบริษัท หรือออกคำสั่งใดๆให้พนักงานปฏิบัติในทางมิชอบหรือผิดจริยธรรม
    8) ทำผิดกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา อันส่งผลเสียหายให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
    9) เปิดเผยค่าจ้างหรือเงินเดือน อัตราการขึ้นเงินเดือนของตนเองหรือของผู้อื่น ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ ก็ตาม
    10) เรียกรับ หรือยินยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากลูกค้า ผู้ค้า คู่ค้า คู่แข่ง หรือบุคคลอื่นใดที่ทำธุรกิจกับบริษัท หรือการเลี้ยงรับรอง ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกินความเหมาะสม ยกเว้น ของขวัญตามประเพณีนิยม หรือการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจตามปกติ หรือค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมธุรกิจอันนำมาซึ่งชื่อเสียงทางการค้าเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตามธรรมเนียมนิยม แต่หากสิ่งเหล่านั้นมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาระดับตั้งแต่ผู้อำนวยการสายทราบทันที
    11) ให้สินบนไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านบุคคลที่สาม และ/หรือ ใช้อิทธิผลอย่างไม่ถูกต้องต่อตัวแทนของรัฐ ลูกค้าหรือคู่ค้า ซึ่งนับว่าเป็นการขัดแย้งต่อนโยบายของบริษัท
    12) กระทำการเพิ่มเติม ตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในบันทึกหรือข้อมูลใดๆเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนผลการดำเนินงาน และการบันทึกบัญชีให้ผิดไปจากความเป็นจริงโดยเจตนา ไม่ว่าเพื่อจุดประสงค์ใดๆก็ตาม
    13) ชำระเงิน หรือจัดการทางธุรกิจโดยมีเจตนาหรือทำให้เข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่งของการชำระเงิน หรือการจัดการทางธุรกิจนั้นๆมีจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุในเอกสารเพื่อการชำระเงินหรือการจัดการทางธุรกิจ
    14) เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายให้สันนิษฐานได้ว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว
    15) ไม่รักษาข้อมูลทางทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท หรือที่บริษัทได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน
    16) ลอกเลียนแบบผลงานและทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
    17) กระทำการใดๆอันเป็นการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
    18) ให้หน่วยงานที่ไม่ใช่สายจัดซื้อขอการสนับสนุนจากผู้ค้าหรือคู่ค้า (หากมีความจำเป็นที่จะต้องขอการสนับสนุนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของบริษัท ให้หน่วยงานต่างๆหารือกับสายงานจัดซื้อเพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ยกเว้น การจัดกิจกรรมร่วมทางการตลาด ให้การตลาดของสายการตลาดและพัฒนาธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบ)
    19) กระทำการอันเป็นการละเลย หรือเอื้ออำนวยแก่บุคคลใดๆที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์หรือเข้าถึง หรือรบกวนระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ของบริษัทโดยมิชอบ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัท หรือจงใจ สนับสนุน ยินยอมให้เกิดขึ้นหรือมีอยู่ซึ่งการกระทำผิดของผู้ให้บริการตามกฎหมายคอมพิวเตอร์หรือกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
  1. การฝ่าฝืนที่ไม่ร้ายแรง : ผู้บริหารจะได้รับหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะระบุลักษณะของการฝ่าฝืนรวมทั้งมูลเหตุที่อาศัยเป็นหลักของการฝ่าฝืนนั้น โดยให้โอกาสผู้บริหารดังกล่าวโต้แย้งข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินัยซึ่งแต่งตั้งโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อพิจารณา และให้ถือคำตัดสินของคณะกรรมการวินัยเป็นที่สิ้นสุด หากมีการฝ่าฝืนเป็นครั้งที่สองหรือผู้บริหารไม่แก้ไขความผิดจากการฝ่าฝืนในครั้งแรกตามที่ได้รับหนังสือเตือนนั้น ผู้บริหารดังกล่าวจะถูกลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้างได้
  2. การฝ่าฝืนร้ายแรงซึ่งรวมถึงการฝ่าฝืนดังต่อไปนี้ เช่น การให้หรือการรับสินบน การฉ้อโกง การเปิดเผยข้อมูลความลับ หรือทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่อบุคคลที่สาม และการกระทำใดที่เสื่อมเสียต่อเกียรติคุณของบริษัทหรือปกปิดไม่รายงานข้อมูล การหารือ หรือเอกสารสำคัญใดๆต้อผู้บังคับบัญชา : บริษัทอาจพิจารณาเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและโดยไม่จำเป็นต้องออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน

บริษัทมีนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม และยึดมั่นการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีและปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน บริษัทจะมุ่งมั่นในการพัฒนาส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม และชุมชนอันเป็นที่ที่บริษัทตั้งอยู่ให้มีคุณภาพดีขึ้นพร้อมๆกับการเติบโตของบริษัท

บริษัทมีนโยบายที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่เสริมสร้างคุณภาพ อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ

No Content

No Content