ต่อต้านการคอร์รัปชั่น

นโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน

บริษัท พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญในการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นธรรม และปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนด “นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน” ขึ้น เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนแก่ผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายไปพร้อมกับการพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนต่อไป

การคอร์รัปชัน หมายถึง การให้หรือรับสินบน (giving or accepting bribes) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ๆ โดยการนำเสนอ (offering) การให้คำมั่นสัญญา (promising) การขอ (soliciting) การเรียกร้อง (demanding) ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือ ผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงและทางอ้อม ในทุก ๆ กิจกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุม เพื่อผลประโยชน์ต่อธุรกิจ ตนเอง ครอบครัว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่กรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้า ให้กระทำได้ และให้หมายความรวมถึงการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การบริจาคเพื่อการกุศล การให้ของขวัญทางธุรกิจ การจ่ายค่าบริการต้อนรับและค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ การให้เงินสนับสนุน (สปอนเซอร์) การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment) การจ้างพนักงานของรัฐ (Revolving Door) และกิจกรรมใด ๆ ที่ถูกกระทำอย่างไม่โปร่งใสและมีเจตนาเพื่อโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ/เอกชนดำเนินการใด ๆ ที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกต้อง

การทุจริต หมายถึง การกระทำใด ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น โดยหมายรวมถึง การยักยอก การตกแต่งบัญชี และการคอร์รัปชัน

การให้หรือรับของขวัญ หมายถึง การให้หรือรับเงิน สิ่งของ ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ใด ๆ

การเลี้ยงรับรองและการบริการต้อนรับ หมายถึง การใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ อาทิ การเลี้ยงรับรองเป็นอาหารและเครื่องดื่ม การเลี้ยงรับรองในรูปแบบการกีฬา และการใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจ หรือเป็นจารีตทางการค้า

การบริจาคและการสนับสนุน หมายถึง การให้หรือรับการสนับสนุนทางการเงิน ผลิตภัณฑ์ หรือบริการแก่ผู้ขอรับการสนับสนุนหรือบริจาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสาธารณประโยชน์แก่สังคมหรือเพื่อส่งเสริมธุรกิจและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร

การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมืองตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง การกระทำใด ๆ ที่จะทำให้คนมีส่วนได้เสียหรือขัดแข้งทางผลประโยชน์กับบริษัทไม่ว่าจะเกิดจากการติดต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องทางการค้าของบริษัทหรือจากการใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้รับรู้จากการเป็นพนักงานในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและการทำธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัทหรือการทำงานอื่นนอกเหนือจากงานของบริษัทซึ่งส่งผลกระทบต่องานในหน้าที่

ค่าอำนวยความสะดวก หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการและเป็นการให้เพียงเพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการหรือเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น โดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง และการได้รับการบริการสาธารณะ เป็นต้น

พนักงานของรัฐ หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่และให้หมายรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐและบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง หมายถึง คู่สมรส บุตร บิดามารดา พี่น้อง ญาติสนิทของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัท

นโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน

  1. ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ และพนักงานทุกคนของบริษัท กระทำการใดๆ ที่เป็นการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงธุรกิจและรายการทั้งหมดในทุกหน่วยงานและในทุกบริษัทย่อย  
  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกคน ทุกระดับต้องปฏิบัติตามนโยบาย แนวทางการปฏิบัติและมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติ ไม่มีข้อยกเว้น และห้ามผู้บริหารและพนักงานไม่ให้เรียกร้อง ดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชัน เพื่อประโยชน์ต่นตนเอง ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก เพื่อต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน ที่บริษัทได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
  3. บริษัทแต่งตั้งคณะทำงานบริหารความเสี่ยงตามนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการให้มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่บริษัทได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action against Corruption : CAC)
  4. บริษัทจะจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันภายในบริษัท รวมถึงการนำนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและแผนการกำกับการปฏิบัติงานไปปฏิบัติและจัดให้มีคู่มือแนวทางในการดำเนินธุรกิจ แนวทางการปฏิบัติและการพัฒนามาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแก่ผู้บริหารและพนักงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัททุกคน ทุกระดับต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวัง  ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้อง  
  5. บริษัทจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม รับประกันให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและยกระดับค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตและความรับผิดชอบให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร 
  6. บริษัทมีความเป็นกลางทางการเมืองและไม่มีนโยบายให้การสนับสนุนทางการเงิน ทรัพยากร หรือทรัพย์สินอื่นใดเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดๆ
  7. บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกสามารถกระทำได้ในกรณีการบริการสาธารณะที่ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
  8. บริษัทมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดจ้างพนักงานรัฐอย่างเหมาะสม ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้กระบวนการดังกล่าวเป็นการตอบแทนการได้มาซึ่งผลประโยชน์ใดๆ รวมทั้งมีมาตรการการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างพนักงานรัฐให้สาธารณชนทราบเพื่อความโปร่งใส
  9. บริษัทมีแนวปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เรื่อง การให้หรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ การบริจาค การให้ความสนับสนุน การขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้บุคลากรของบริษัทใช้เป็นแนวทางและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง
  10. บริษัทมีกลไกการรายงานสถานะทางการเงินที่โปร่งใสและถูกต้องแม่นยำ ครอบคลุมทั้งด้านการเงินและการดำเนินการของกระบวนการทางบัญชีและการเก็บบันทึกข้อมูล รวมถึงกระบวนการอื่น ๆ ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีการสอบทาน มีการตรวจสอบภายในเพื่อยืนยันประสิทธิผลของกระบวนการตามมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันของบริษัทและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ รวมถึงข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลการตรวจสอบตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงต้องรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง รวมถึงคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
  11. บริษัทจัดให้มีกระบวนการบริหารงานบุคลากรที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันตั้งแต่การคัดเลือก การอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทนและการเลื่อนตำแหน่ง
  12. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้การกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ก็จะไม่ส่งผลทางลบต่อตำแหน่งหน้าที่การงานหรือถูกลงโทษใด ๆ
  13. หากพนักงานพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉยต่อพฤติกรรมดังกล่าว และควรแจ้งให้บริษัททราบทันที ผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสตามที่บริษัทได้กำหนดไว้
  14. บริษัทมีนโยบายที่จะไม่ลดตำแหน่งลงโทษหรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม
  15. บริษัทจัดให้มีการฝึกอบรมมาตรการและความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันแก่บุคลากรของบริษัทอย่างต่อเนื่อง
  16. กรรมการ ผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นของบริษัทต้องเป็นผู้นำตัวอย่างในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ประกอบธุรกิจตามหลักคุณธรรม จริยธรรม และดำเนินธุรกิจด้วยหลักการในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ดำเนินงานตามกรอบและขั้นตอนของแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต
  17. บริษัททบทวนนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอทุก 3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการเตรียมการเพื่อรับรองการเป็นสมาชิกโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) หรือตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการชุดย่อยที่ได้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาต่อไป

การลงโทษ

  1. การลงโทษพนักงานที่กระทำผิดเป็นไปตามระเบียบการลงโทษทางวินัยของบริษัท และ/หรือ โทษทางกฎหมาย ซึ่งการลงโทษจะพิจารณาจากเจตนาของการกระทำและความร้ายแรงของความผิดนั้น ๆ
  2. หากกรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการบริษัทหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยงหารือร่วมกับประธานกรรมการบริษัทในการพิจารณากำหนดโทษตามที่เห็นสมควร และ/หรือ ให้ดำเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กำหนดบทลงโทษทางวินัยหากมีการฝ่าฝืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การตักเตือนเป็นหนังสือ พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือให้ออกจากงาน ซึ่งการลงโทษจะพิจารณาจากเจตนาของการกระทำและความร้ายแรงของความผิดนั้น

แนวปฏิบัติและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน

หน้าที่และความรับผิดชอบ

คณะกรรมการบริษัท

  1. กำหนดและอนุมัตินโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท
  2. กำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในบริษัทอนุมัติการนำนโยบาย แนวทางการปฏิบัติ และมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและทั่วทั้งองค์กร
  3. กำกับดูแลการปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติและมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน จัดให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ในทุกกิจกรรมของบริษัทและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
  4. ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน แนวทางการปฏิบัติ และมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของความซื่อสัตย์ โปร่งใสและเป็นธรรม รวมถึงให้คำปรึกษาคำแนะนำแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีข้อสงสัยและข้อซักถามต่าง ๆ

คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง

  1. การกำกับดูแลระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายในและระบบบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท การจัดทำรายงานทางการเงินและกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุม เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
  2. สอบทานและรายงานผลการสอบทาน การควบคุมภายในและการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
  3. ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน แนวทางการปฏิบัติ มาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของความซื่อสัตย์ โปร่งใสและเป็นธรรม ให้คำปรึกษา คำแนะนำแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีข้อสงสัยและข้อซักถามต่าง ๆ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูง

  1. กำหนดให้มีระบบและให้การส่งเสริมสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน การประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันภายในบริษัท มาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและทั่วถึง
  2. สอบทาน ตรวจสอบ และทบทวนความเหมาะสมของระบบควบคุมภายใน การตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและข้อกำหนดของกฎหมาย
  3. รายงานผลการสอบทาน การทบทวน การควบคุมภายในและการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันต่อคณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอและสามารถรายงานประเด็นที่พบอย่างเร่งด่วนต่อคณะกรรมการบริษัทโดยตรง (กรณีจำเป็นเร่งด่วน)
  4. ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน แนวทางการปฏิบัติ มาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของความซื่อสัตย์ โปร่งใสและเป็นธรรม
  5. ต้องตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชันให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีข้อสงสัย ข้อซักถามต่าง ๆ

คณะทำงานบริหารความเสี่ยงตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน

  1. แต่งตั้งขึ้นจากผู้รับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ ในผังองค์กร มีหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน แนวทางการปฏิบัติและมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้ถูกนำไปใช้ภายในองค์กรอย่างเคร่งครัดทั่วทั้งองค์กร
  2. มีหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันภายในบริษัทและจัดทำมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ประเมินได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงนั้น ๆ นำเสนอประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะกรรมการบริษัท เพื่ออนุมัติและประกาศใช้ต่อไป
  3. รายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่กำหนด
  4. ตระหนักและให้ความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน

คณะทำงานบริหารความเสี่ยงตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน

บริษัทกําาหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันแยกออกจากการประเมินความเสี่ยงระดับองค์กร โดยมีคณะทำงานบริหารความเสี่ยงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการประเมินและระบุความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินงานของกิจการทุกด้านที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนรวบรวมจัดระดับความเสี่ยงดังกล่าว พิจารณาหากระบวนการในการป้องกันและตรวจสอบความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนั้น ให้ฝ่ายตรวจสอบภายในสอบทานกระบวนการควบคุมความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชันแต่ละกิจกรรมของบริษัท เพื่อวิเคราะห์ช่องทางและโอกาสที่ทําให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันพร้อมทั้งประเมินโอกาสและผลกระทบที่เกี่ยวข้อง (ตามระดับคะแนนการประเมินโอกาสและผลกระทบ อ้างอิงตามเกณฑ์ของคู่มือการบริหารความเสี่ยงองค์กร) โดยผลการประเมินที่มีความเสี่ยงจะนํามาจัดทําแผนการตรวจสอบและมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

  1. หมายถึง คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยงซึ่งทำหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีข้อร้องเรียน กรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือกรรมการผู้จัดการ และให้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการบริษัท
  2. หมายถึง ผู้บริหารระดับผู้อำนวยการหรือผู้จัดการจากหน่วยงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานต้นเรื่องของผู้ถูกร้องเรียนและหน่วยงานทรัพยากรบุคคล ซึ่งบริษัทตั้งขึ้นโดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นคราวๆ ไป ตามความเหมาะสม เพื่อทำการพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ เมื่อได้รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนทั้งภายในและภายนอกบริษัท และให้รายงานผลการการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อกรรมการผู้จัดการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง หรือคณะกรรมการบริษัทตามความเหมาะสมของเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น

พนักงานทุกคนทุกระดับ

พนักงานทุกคน มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน แนวทางการปฏิบัติ และมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน ดังนี้

  1. ศึกษาและทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
  2. ต้องถือเป็นวินัยในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ไม่ละเว้น ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม หรือมีพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกกรณี
  3. ควรทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของตนและบริษัทให้ทราบและถือปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท
  4. เมื่อพบเห็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบทันทีและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ กับหน่วยงานหรือบุคคลที่บริษัทมอบหมาย
  5. พนักงานระดับบริหารและผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นในทุกหน่วยงานต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้คำแนะนำในขั้นตอนการปฏิบัติ กำกับดูแล สนับสนุน ส่งเสริม ให้พนักงานในบังคับบัญชาของตนทุกคนได้เข้าใจและมีความสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เคร่งครัด โดยทั่วถึง
  6. กรณีมีข้อสงสัย ข้อซักถาม มีความไม่แน่ใจ ไม่อาจตัดสินใจได้ว่าการตัดสินใจของตนถูกต้องหรือไม่ในแนวทางการปฏิบัติมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ให้หารือผู้ร่วมงาน ปรึกษาผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นหรือขอคำแนะนำจากเลขานุการบริษัท กรรมการผู้จัดการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อให้ได้ความกระจ่างและสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างความมั่นใจ ถูกต้อง และโปร่งใส
  7. มีหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันภายในหน่วยงานของตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในบริษัท ร่วมจัดทำมาตรการ/ขั้นตอนในการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ประเมินได้กับคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท

แนวทางการปฏิบัติและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน

กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติ และมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน ดังต่อไปนี้

1. การให้หรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง (Gift and Hospitality)

  1. ต้องไม่รับหรือให้ของขวัญ ของที่ระลึกใด ๆ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องงานที่ตนรับผิดชอบอยู่ ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชนและคู่ค้าทางธุรกิจ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ในทางมิชอบและเป็นการชักนำให้เกิดการละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เว้นแต่เป็นการให้หรือรับของขวัญ ของที่ระลึกตามโอกาสหรือวาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น การให้ตามขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่นหรือจารีตทางการค้า และต้องมีมูลค่าไม่มากเกินปกติวิสัย ทั้งนี้ การได้รับหรือจะให้ของขวัญ ของที่ระลึกใด ๆ ที่มูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท/ชิ้น/ครั้ง หรือต่อคน ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาระดับตั้งแต่ผู้อำนวยการทราบและอนุมัติก่อนการดำเนินการ
  2. การใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจและการบริการต้อนรับและการใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามสัญญาทางธุรกิจ สามารถกระทำได้แต่ต้องอยู่ในระดับและขอบเขตที่เหมาะสม มีความสมเหตุสมผล สามารถตรวจสอบได้กำหนดวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท/ครั้ง และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน บริษัทมีกระบวนการในการตรวจสอบงานขายและการตลาดอย่างสมํ่าเสมอเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชัน รวมถึงการจัดให้มีวิธีการแก้ไขที่เหมาะสม

2. การให้ความสนับสนุน (Sponsorship)

การใช้เงินหรือทรัพย์สินของบริษัทเพื่อเป็นเงินสนับสนุน (Sponsorships) จะต้องกระทำอย่างเปิดเผย กระทำในนามบริษัทเท่านั้น และดำเนินการผ่านขั้นตอนการอนุมัติโดยผู้มีอำนาจของบริษัท โดยเงินสนับสนุนที่จ่ายไปต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ สร้างภาพลักษณ์หรือชื่อเสียงที่ดีให้กับบริษัท ทั้งนี้ จะต้องมีการออกหลักฐานรับรองที่น่าเชื่อถือ ระบุวัตถุประสงค์และผู้รับเงินที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ กำหนดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท/ครั้ง

3. การบริจาค (Donation)

การใช้เงินหรือทรัพย์สินของบริษัทในการบริจาคเพื่อการกุศลจะต้องกระทำอย่างเปิดเผย กระทำในนามบริษัทเท่านั้น และดำเนินการผ่านขั้นตอนการอนุมัติโดยผู้มีอำนาจของบริษัท โดยต้องเป็นการบริจาคให้กับองค์กรเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนใด ๆ เช่น มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล วัด สถานศึกษา สถานพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้ จะต้องมีการออกหลักฐานรับรองที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้ กำหนดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท/ครั้ง ทั้งนี้ หากมีวงเงินการอนุมัตินอกเหนือจากนี้ให้ดำเนินการตามเอกสารอำนาจดำเนินการของบริษัท

4. การสนับสนุนทางการเมือง (Political Contributions)

บริษัทมีนโยบายยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมือง ไม่สนับสนุนให้มีนำเงินทุนหรือความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ไปช่วยเหลือทางการเมืองแก่พรรคการเมืองใด ทั้งทางตรงและทางอ้อม การช่วยเหลือทางการเมือง (Political Contributions) หมายรวมถึงการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงินหรือการช่วยเหลือในรูปแบบอื่น (In-kind) เช่น การให้สิ่งของหรือบริการ การโฆษณาส่งเสริมหรือสนับสนุนพรรคการเมือง การซื้อบัตรเข้าชมงานที่จัดเพื่อระดมทุนหรือบริจาคเงินให้แก่องค์กรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง การเป็นตัวแทนบริษัทเพื่อร่วมดำเนินการเกี่ยวกับการรณรงค์ทางการเมือง เป็นต้น

5. การขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest)

การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์บนหลักการที่ว่าพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเท่านั้น และไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทและหลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับรายการที่พิจารณา ต้องแจ้งบริษัททราบถึงความสัมพันธ์หรือการเกี่ยวโยงของคนในรายการดังกล่าว และต้องไม่เข้าร่วมการพิจารณาตัดสิน รวมถึงไม่มีอำนาจอนุมัติในธุรกรรมนั้นๆ คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยงจะนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกันและรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งได้กระทำอย่างยุติธรรม ตามราคาตลาดและเป็นไปตามปกติธุรกิจการค้า ซึ่งมีการพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ รวมทั้งบริษัทได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัดในเรื่องการกำหนดราคาและเงื่อนไขต่างๆกับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ให้เสมือนทำรายการกับบุคคลภายนอก โดยจะเปิดเผยการทำรายการไว้ในงบการเงินและแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี

6. การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment)

บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกสามารถกระทำได้ในกรณีการบริการสาธารณะที่ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือกรณีพนักงานตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อร่างกายหรือเชื่อว่าชีวิตของตนเองกำลังตกอยู่ในอันตราย โดยจะต้องจัดทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรและส่งให้ผู้บังคับบัญชาสอบทาน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์และลักษณะของการจ่ายเงินดังกล่าวจะต้องได้รับการบันทึกข้อมูลไว้อย่างถูกต้อง

7. การจ้างพนักงานรัฐ (Revolving Door)

บริษัทจะไม่จ้างพนักงานของรัฐเข้าทำงานที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งนี้ บริษัทจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดจ้างพนักงานรัฐอย่างเหมาะสม ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้กระบวนการดังกล่าวเป็นการตอบแทนการได้มาซึ่งผลประโยชน์ใดๆ รวมทั้งมีมาตรการการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างพนักงานรัฐให้สาธารณชนทราบเพื่อความโปร่งใส

8. ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐหรือเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนของบริษัทอย่างเคร่งครัด มีความโปร่งใส รัดกุม และสามารถตรวจสอบได้ โดยบริษัทมีกระบวนการในการตรวจสอบงานจัดซื้อและทำสัญญาอย่างสมํ่าเสมอเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชัน รวมถึงการจัดให้มีวิธีการแก้ไขที่เหมาะสม

9. กรรมการและผู้บริหารต้องตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันของบริษัทให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชารวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของความ ซื่อสัตย์ โปร่งใสและเป็นธรรมเพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ สุจริต ความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมถึงสื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีของธุรกิจ

  • บริษัทมีกระบวนการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแก่คณะกรรมการผู้บริหารและพนักงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันและให้รู้ถึงบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการนี้
  • บริษัทมีกระบวนการปฐมนิเทศให้แก่พนักงานใหม่ เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันและให้รู้ถึงบทลงโทษหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามมาตรการนี้

การแจ้งเบาะแส ข้อร้องเรียน และขอคำแนะนำ (Raising Concerns and Seeing Guidance)

บริษัทกำหนดช่องทางในการติดต่อและรับเรื่องร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์และรายงานประจำปี โดยสามารถแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนได้หลายช่องทาง ทั้งทางเว็บไซต์ อีเมล์ โทรศัพท์ (ฝ่ายบริหารองค์การ) ไปรษณีย์ หรือกล่องรับแจ้งความคิดเห็น ซึ่งเป็นช่องทางที่มีความปลอดภัย พนักงานสามารถเข้าถึงได้อย่างมั่นใจ ทั้งกรณีการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนและการส่งข้อซักถาม ข้อสงสัย หรือการขอคำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน เนื่องจากบริษัทมีระบบการรักษาความลับและมาตรการคุ้มครองพนักงานทุกคน เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้นในภายหลังการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนและข้อซักถามต่าง ๆ (ดูช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนในจรรยาบรรณบริษัท)

กรณีที่ไม่แน่ใจ ไม่อาจตัดสินใจได้ว่าการตัดสินใจของตนถูกต้องหรือไม่ หรือมีข้อสงสัย ข้อซักถาม เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน ให้พนักงานหารือผู้ร่วมงานปรึกษาผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นหรือขอคำแนะนำจากเลขานุการบริษัท กรรมการผู้จัดการ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อให้ได้ความกระจ่างและสามารถดำเนินการ ต่าง ๆ ได้อย่างความมั่นใจ ถูกต้อง และโปร่งใสได้โดยตรงในทุกกรณี ทั้งในสถานการณ์ปกติหรือกรณีเร่งด่วน

E-Mail :

1. นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์
กรรมการอิสระ
2. นายจักร บุญ-หลง
กรรมการอิสระ
3. นายราชัย วัฒนเกษม
กรรมการอิสระ
4. นายอังกฤษ รุ่งโรจน์กิติยศ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
5. นายกรวุฒิ ชิวปรีชา
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน

ไปรษณีย์ :

บริษัท พี.ซี.เอส. แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
2/1-9 หมู่ที่ 3 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30280

การรักษาความลับและมาตรการคุ้มครอง

เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนที่กระทำโดยเจตนาสุจริต บริษัทจะปกปิดข้อมูลที่สามารถระบุตัวผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน โดยจำกัดให้รู้ได้เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนหรือเป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือกรรมการผู้จัดการบริษัทย่อย (แล้วแต่กรณี) มีหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจสั่งการตามที่เห็นสมควร เพื่อคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน พยานและบุคคลที่ให้ข้อมูลในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

การตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อบริษัทได้รับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนไม่ว่าจากภายในหรือภายนอก บริษัทจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายหรือผู้จัดการแผนกจากหน่วยงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานต้นเรื่องของผู้ถูกร้องเรียนและหน่วยงานทรัพยากรบุคคล เพื่อทำการพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงและหลักฐานต่าง ๆ

ในกรณีที่มีการร้องเรียนกรรมการบริษัทหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยงจะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการทุจริตจริง บริษัทจะแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบและให้สิทธิพิสูจน์ โดยหาข้อมูลหรือหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์มาแสดงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อกรรมการผู้จัดการบริษัทย่อย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง หรือคณะกรรมการบริษัท ตามความเหมาะสมของเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น

การลงโทษและการแจ้งผลการดำเนินการ

  • การลงโทษพนักงานที่กระทำผิดให้เป็นไปตามระเบียบการลงโทษทางวินัยของบริษัท และ/หรือโทษทางกฎหมาย ซึ่งการลงโทษจะพิจารณาจากเจตนาของการกระทำและความร้ายแรงของความผิดนั้น ๆ  
  • หากกรณีผู้กระทำผิดเป็นกรรมการบริษัทหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้คณะกรรมการตรวจสอบและบริหารความเสี่ยงหารือร่วมกับประธานกรรมการบริษัทในการพิจารณากำหนดโทษตามที่เห็นสมควร และ/หรือ ให้ดำเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กำหนดบทลงโทษทางวินัยหากมีการฝ่าฝืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การตักเตือนเป็นหนังสือ พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือให้ออกจากงาน ซึ่งการลงโทษจะพิจารณาจากเจตนาของการกระทำและความร้ายแรงของความผิดนั้น
  • กรณีที่สามารถติดต่อผู้ให้เบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ บริษัทจะแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

นโยบายการสื่อสาร และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน

เพื่อให้พนักงานทุกคน ทุกระดับ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทและสาธารณชน ได้รับทราบนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันของบริษัทอย่างทั่วถึง บริษัทจึงกำหนดช่องทางในการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ดังนี้

  1. การสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลภายในองค์กร
    • ติดประกาศตามบอร์ดประชาสัมพันธ์ของบริษัทและบริษัทย่อย
    • เผยแพร่ในระบบเว็บไซต์ภายในของบริษัท
    • จัดการฝึกอบรมให้พนักงานทุกคนอย่างต่อเนื่อง
    • การจัดกิจกรรมหรือรณรงค์ร่วมกันระหว่างพนักงาน ผู้บริหาร โดยมีการสอดแทรกวัตถุประสงค์สนับสนุนแนวนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. การสื่อสารและการเปิดเผยข้อมูลภายนอกองค์กร
    • เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์บริษัท
    • รายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปี (56-1 One Report)
    • การแจ้งโดยจดหมาย การจัดประชุมชี้แจงให้ ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัททุกฝ่ายทราบเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างสม่ำเสมอ
    • จัดทำสัญลักษณ์หรือสื่อใด ๆ ที่แสดงถึงแนวนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันบนสิ่งของเพื่อให้แก่ลูกค้าหรือคู่ค้า เช่น ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ หรือในโอกาสทางธุรกิจหรือในการส่งเสริมการขายของบริษัท

บริษัทจะเปิดเผยและแลกเปลี่ยนนโยบายภายใน ประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดีและแนวทางความสำเร็จในการสนับสนุนให้เกิดการทำรายงานทางธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ถูกต้อง และโปร่งใสในประเทศไทย โดยการสนับสนุนให้มีการริเริ่มโครงการระดับประเทศเพื่อสร้างเงื่อนไขในการแข่งขันที่เป็นธรรม โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงให้มั่นใจว่ามีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

นอกจากนี้บริษัทจะมีส่วนร่วมในการเสวนาและร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นในการประชุมต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อกังวลและปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีผลต่อธุรกิจเอกชนเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ สุจริตและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ

บริษัทจะร่วมมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่น ๆ โดยการสร้างแนวร่วมปฏิบัติ และการเข้าร่วมในกิจกรรมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนี้

  • บริษัทจะร่วมแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและกรอบความคิดเพื่อมุ่งหวังให้ทุกองค์กรที่เป็นแนวร่วมปฏิบัติได้นำไปใช้เพื่อช่วยกันบรรลุเป้าหมายตามโครงการ
  • บริษัทจะเข้าร่วม Integrity Pacts กับองค์กรอื่นและหน่วยงานภาครัฐในการประมูลและจัดซื้อสิ่งของ วัตถุดิบอุปกรณ์และการก่อสร้าง
  • บริษัทจะร่วมมือและร่วมคิดเพื่อพัฒนาจรรยาบรรณธุรกิจที่สามารถใช้ได้กับทุกองค์กรและเป็นที่ยอมรับจากทุกองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ
  • บริษัทจะร่วมในการสร้างมาตรการและระบบตรวจสอบเพื่อส่งเสริมความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ในการประกอบธุรกิจ
  • บริษัทจะร่วมมือกับภาคประชาสังคมและสื่อในการสร้างจิตสำนึกและการให้การศึกษาแก่สาธารณะ เพื่อเปลี่ยนค่านิยมไปสู่การต่อต้านและการประฌามการทุจริตในทุกรูปแบบ
  • บริษัทจะสนับสนุนการพัฒนาโครงการตรวจสอบและรับรองการปฏิบัติตามโครงการ พร้อมทั้งมีการจัดการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาและผู้ตรวจสอบเพื่อเป็นแนวทางให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการในการดำเนินธุรกิจตามหลักจริยธรรมและยกระดับกระบวนการนี้ให้อยู่ในวัฒนธรรมองค์กรเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของโครงการแนวร่วมปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนไทย
  • บริษัทมีการตรวจสอบและรับรองโดยคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตทุก 3 ปี

การทบทวน ตรวจสอบ ปรับปรุง (Review, Assess and Improve)

บริษัททบทวนนโยบายฉบับนี้อย่างสม่ำเสมอทุก 3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการเตรียมการเพื่อรับรองการเป็นสมาชิกโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) หรือตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการชุดย่อยที่ได้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาอนุมัติ

ทั้งนี้ นโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันได้รับอนุมัติปรับปรุงเพิ่มเติมจากประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

บันทึกประวัติการแก้ไข
นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน

ฉบับที่แก้ไข วันที่ ส่วนที่แก้ไข เหตุผล อนุมัติโดย
00 26 กุมภาพันธ์ 2558 จัดทำใหม่ - ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2558
01 16 ตุลาคม 2559 1. อนุมัติเพิ่มเติมมาตรการ/ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันของบริษัท
2. จัดทำคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณบริษัท
เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ CAC ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/2559
02 21 กุมภาพันธ์ 2563 ทบทวนและปรับปรุงนโยบาย หัวข้อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทบทวนประจำปี ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2563
03 22 กุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มมาตรการคอร์รัปชัน เรื่องการจ่ายค่าอำนวยความสะดวก การจ้างพนักงานรัฐ การขัดแข้งทางผลประโยชน์ และการติดตามทบทวนนโยบาย ตามข้อกำหนดเพิ่มเติมของ CAC ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2566

การติดตามการดำเนินงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน

GRI 103-3, GRI 205-2, GRI 205-3

  • ในปี 2559 บริษัทฯ ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยง ทบทวนและปรับปรุงนโยบายและกระบวนการเปิดเผยตามกรอบแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน Anti Corruption สำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งที่ 6/2559 วันที่ 12 ตุลาคม 2559เพื่อปรับปรุงนโยบายและแนวทางการดำเนินการรวมทั้งการติดตามผล กระบวนการรายงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดีตามข้อกำหนด พร้อมทั้งดำเนินการฝึกอบรมให้พนักงานทุกคน เกิดความเข้าใจ และพัฒนาความรู้ ผู้บริหารของบริษัทฯ รวมทั้งผลักดันให้คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ได้รับทราบนโยบายโดยการเผยแพร่ทางจดหมาย และผ่านเว็บไซด์ของบริษัทฯ
  • บริษัทฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมแนวร่วมภาคประชาชนต่อต้านการคอร์รัปชันของจังหวัดนครราชสีมา ในการประกาศเจตนารมณ์ รณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันในทุกรูปแบบในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย
  • บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ให้จัดทำหนังสือคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณบริษัท (Corporate Governance and Code of Conduct) โดยกำหนดให้นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นส่วนหนึ่งของคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณบริษัท เพื่อให้บริษัทมีมาตรการดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการไปในทิศทางเดียวกัน
  • บริษัทฯ ได้ลงนามในการแสดงเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption : CAC ) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยบริษัทได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560
  • บริษัทฯ ได้เผยแพร่และให้ความรู้กับผู้บริหารและพนักงานทั่วทั้งองค์กรผ่านกระบวนการฝึกอบรมสำหรับพนักงานใหม่ได้รับการบรรจุนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นไว้ในหลักสูตรการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ และกระบวนการอบรมในงาน (On the Job Training) ทั่วทั้งองค์กร
  • ในปี 2563 บริษัทฯ ได้รับการต่ออายุการรับรองการเป็นสมชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย โดยการรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 3 ปี นั้นจากวันที่มีมติในการรับรอง วันที่ 3 มิถุนายน 2563 ครบกำหนดอายุการรับรองในวันที่ 30 มิถุนายน 2566
  • ในปี 2564 บริษัทฯ ได้จัดทดสอบวัดระดับความรู้ด้านจรรยาบรรณบริษัทและการปฎิบัติตามนโยบายการต่อต้านการคอรรัปชันผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ร้อยละ 87.25
  • ในปี 2565 บริษัทฯ ได้จัดทดสอบวัดระดับความรู้ด้านจรรยาบรรณบริษัทและการปฎิบัติตามนโยบายการต่อต้านการคอรรัปชันผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่ร้อยละ 90.49

จำนวนพนักงานที่ได้รับการอบรมในหลักสูตร
การกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณบริษัท
และนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน

ปี หลักสูตรพนักงานใหม่ หลักสูตรประจำปี On the Job Training
2560 718 - 100%
2561 891 117 100%
2562 470 74 100%
2563 156 1,984 100%
2564 - 2,094 100%
2565 526 2,161 100%