
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช
(ประธานกรรมการ)
ในปี 2567 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากปี 2566 จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว เศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ฟื้นตัวทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะรถยนต์ ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวของอุตสาหกรรมในประเทศดังกล่าวส่งผลกระทบให้ยอดขายในประเทศโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 โดยสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยตัวเลขภาพรวมของการผลิตรถยนต์ในปี 2566 ดังนี้
- - ยอดการผลิตรวมของอุตสาหกรรมจำนวน 1,468,997 คัน ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ 1,834,986 คัน
- - ยอดขายรถยนต์ในประเทศจำนวน 893,700 คัน ลดลงร้อยละ 22.4 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ 1,151,579 คัน
- - ยอดส่งออกรถยนต์ในประเทศจำนวน 572,675 คัน ลดลงร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ 775,780 คัน
- - ยอดจดทะเบียนรถยนต์ 1,019,213 คัน ลดลงร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ 1,117,539 คัน
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในปี 2567 รายได้จากการขายรวมจำนวน 3,214.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.1 จากปี 2566 ที่ 3,973.9 ล้านบาท อันมีสาเหตุหลักจากสมการบริหารต้นทุนในช่วงปีที่ผ่านมาเกิดผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและการปรับตัวของต้นทุนวัตถุดิบให้สูงขึ้นโดยรวม อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าที่ลดลงในภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ
สำหรับทิศทางในการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในปี 2568 ยังคงให้ความสำคัญในกลุ่มลูกค้าหลักด้านการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท 1 ตัน (Pick-up) และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมทั้งชิ้นส่วนที่ใช้ในรถกระบะ 1 ตัน (Non-Pickup) ได้แก่ รถจักรยานยนต์ (Big Bike), ระบบช่วงล่าง (Suspension), รถบรรทุก (Big Truck), รถยนต์นั่ง (Passenger Car) รวมไปถึงการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตร (Agricultural Machinery) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance) เป็นต้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและขยายฐานธุรกิจให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของบริษัทย่อยที่ต่างประเทศ จากภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเขตภูมิภาคยุโรป อันมีผลมาจากเหตุการณ์โรคระบาดของ Covid-19 รวมถึงผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย/ยูเครน ทำให้บริษัทในประเทศเยอรมนีและอิตาลีประสบภาวะการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่องและขาดทุนจากกระบวนการ Insolvency และยุติการดำเนินงานของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนในงบการเงินรวมของบริษัท อีกต่อไป
สำหรับการบริหารจัดการต้นทุน บริษัท และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงานให้สามารถแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น มีนวัตกรรม และข้อเสนอทางธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่ธุรกิจสามารถเติบโตขึ้นไปพร้อมกับบริษัทฯ ได้อย่างยั่งยืน
สุดท้ายนี้ ในนามของคณะกรรมการบริษัท ขอขอบคุณผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัททุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทด้วยดีเสมอมา คณะกรรมการบริษัทจะบริหารงานด้วยความโปร่งใส ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
