

สารจากประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

สารจากประธานกรรมการ
และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทฯ มุ่งมั่นในการพัฒนาส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนใกล้เคียงให้มีคุณภาพดีขึ้นพร้อมๆ ไปกับการเติบโตของบริษัทฯ
ในปี 2567 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาในช่วงปลายปี 2566 จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของประเทศ ได้เพิ่มสูงขึ้นทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะรถยนต์ ซึ่งการซื้อรถยนต์ภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงผ่านการให้สินเชื่อจาก สถาบันการเงินเป็นหลัก จึงมีผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ภายในประเทศโดยรวมที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย เปิดเผยข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับปี 2567 ดังต่อไปนี้
- ยอดการผลิตรถยนต์รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,468,997 คัน ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ 1,834,986 คัน
- ยอดการผลิตรถกระบะ 1 ตัน รวมรถกระบะดัดแปลงจำนวน 893,700 คัน ลดลงร้อยละ 22.4 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ 1,151,579 คัน
- ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจำนวน 572,675 คัน ลดลงร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ 775,780 คัน
- ยอดการส่งออกรถยนต์ 1,019,213 คัน ลดลงร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ 1,117,539 คัน
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในปี 2567 รายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 3,214.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.1 จากปี 2566 ที่ 3,973.9 ล้านบาท อันมีสาเหตุหลักจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของประเทศอยู่ในสัดส่วนที่สูงต่อเนื่องทำให้สถาบันการเงิน ยังคงมีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะรถยนต์ ซึ่งเป็นไปตามภาวะของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมภายในประเทศ
สำหรับทิศทางในการดำเนินงานของบริษัทฯ ในประเทศสำหรับปี 2568 ยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การรักษาตลาดการผลิตและ จำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องยนต์และชิ้นส่วนรถกระบะ 1 ตัน พร้อมกับการเข้าไปในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมทั้งชิ้นส่วนที่ไม่ใช่รถกระบะ 1 ตัน (Non-Pickup) ได้แก่ รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) รถบรรทุกขนาดใหญ่ (Big Truck) รถยนต์นั่ง (Passenger Car) รวมไปถึงการ ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่ใช่ยานยนต์ เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร (Agricultural Machinery) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance) เป็นต้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและขยายฐานธุรกิจให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของบริษัทย่อยที่ต่างประเทศ จากภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเขตภูมิภาคยุโรป อันมีสาเหตุจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 การขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย/ยูเครน ทำให้ บริษัทย่อยที่ประเทศเยอรมันและฮังการีได้ประสบภาวะการขาดสภาพคล่องจนต้องเข้าสู่กระบวนการ Insolvency และยุติการดำเนินงานทั้งหมดตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ จะไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนในงบการเงินรวมของบริษัทฯ อีกต่อไป
สำหรับความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทฯ และบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ คำนึงถึงประโยชน์ ต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน บริษัทฯ มุ่งมั่นในการ พัฒนาส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนใกล้เคียงให้มีคุณภาพดีขึ้นพร้อมๆ ไปกับการเติบโตของบริษัทฯ
สุดท้ายนี้ ในนามของคณะกรรมการบริษัท ขอขอบคุณผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย พนักงาน และผู้บริหารทุกท่านสำหรับการดำเนินการที่ผ่าน มา คณะกรรมการบริษัทจะยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้บริษัทฯ เติบโต ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช
ประธานกรรมการบริษัท
นายอังกฤษ รุ่งโรจน์กิติยศ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร